เมนู

7. ชาลิยสูตร


เรื่องมัณฑิยปริพาชก และชาลิปริพายก


[256] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี.
ครั้งนั้น บรรพชิตสองรูป คือ ปริพาชก ชื่อ มัณฑิยะ 1 ชาลิยะ อันเตวาสิก
ของบรรพชิตผู้ใช้บาตรไม้ 1 ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ปราศรัยกับพระผู้มี
พระภาคเจ้า ครั้งผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควร
ส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระโคดม ชีวะอันนั้น สรีระ
อันนั้น หรือ ชีวะอันอื่น สรีระอันอื่น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น
เธอฟังเถิด ทำในใจจงดีเถิด เราจักกล่าว. บรรพชิตสองรูปนั้นทูลรับว่า
จักทำตามแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แน่ะเธอ พระตถาคตเสด็จอุบัติ
ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ [พึงดูพิสดารในสามัญญผล
สูตร] ฯลฯ แน่ะเธอ ภิกษุเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลอย่างนี้แล. เข้าถึง
ปฐมฌานอยู่.
[257] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า แน่ะเธอ ภิกษุผู้รู้อย่างนี้
เห็นอย่างนี้ ควรจะกล่าวว่า ชีวะอันนั้น สรีระอันนั้น หรือว่า ชีวะอันอื่น
สรีระอันอื่น. แน่ะเธอ ภิกษุผู้รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ไม่สมควรกล่าวอย่าง
นั้นว่า ฯลฯ ก็เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ชีวะ
อันนั้น สรีระอันนั้น หรือว่า ชีวะอันอื่น สรีระอันอื่น. ทุติยฌาน. ตติยฌาน.
เข้าถึงจตุตถฌานอยู่.
[258] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า แน่ะเธอ ภิกษุผู้รู้อย่างนี้
เห็นอย่างนี้ สมควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะอันนั้น สรีระอันนั้น หรือว่า

ชีวะอันอื่น สรีระอันอื่น แน่ะเธอ ภิกษุผู้รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ไม่สมควรกล่าว
ว่า ชีวะอันนั้น สรีระอันนั้น หรือว่า ชีวะอันอื่น สรีระอันอื่น. แน่ะเธอ
ก็เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า ชีวะอันนั้น
สรีระอันนั้น หรือว่า ชีวะอันอื่น สรีระอันอื่น. ภิกษุนำไปเฉพาะ น้อมไปเฉพาะ
ซึ่งจิตเพื่อญาณทัสสนะ. แน่ะเธอ ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้มิได้มี.
[259] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า แน่ะเธอ ภิกษุผู้รู้อย่างนี้
เห็นอย่างนี้ สมควรหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะอันนั้น สรีระอันนั้น หรือว่า ชีวะ
อันอื่น สรีระอันอื่น. แน่ะเธอ ภิกษุผู้รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ไม่สมควร
กล่าวว่า ชีวะอันนั้น สรีระอันนั้น หรือว่า ชีวะอันอื่น สรีระอันอื่น.
แน่ะเธอ ก็เรารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงไม่กล่าวว่า
ชีวะอันนั้น สรีระอันนั้น หรือว่า ชีวะอันอื่น สรีระอันอื่น. พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสอย่างนี้. บรรพชิตสองรูปนั้นดีใจชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วแล.
จบชาลิยสูตรที่ 7

อรรถกถาชาลิสูตร


(เดิมไม่ได้แปลไว้)

ชาลิยสูตรว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ ฯลฯ ในกรุงโกสัมพี
เป็นต้น
ในชาลิยสูตรนั้น มีการพรรณนาตามลำดับบทดังต่อไปนี้. บทว่า
โฆสิตาราเม ความว่า ในอารามที่โฆษิตเศรษฐีสร้างถวาย.
ได้ยินว่าในกาลก่อน ได้มีนครแห่งหนึ่งชื่อทมิฬรัฐ. จากนครนั้น
บุรุษเข็ญใจชื่อโกตูหลิก พร้อมกับบุตรและภรรยาหนีไปสู่อวันตีรัฐ เพราะ
ฉาตกภัย เมื่อไม่อาจนำบุตรไปได้จึงทิ้งบุตรเสียแล้วเดินทางต่อไป. มารดา
กลับไปรับเอาบุตรนั้น. เขาจึงพากันไปยังบ้านนายโคบาลแห่งหนึ่ง. ก็ในกาล
นั้นนายโคบาลได้ตระเตรียมข้าวปายาสไว้มาก. เขาได้กินข้าวปายาสนั้น.
ลำดับนั้นแล บุรุษนั้นกินข้าวปายาสมาก ไม่อาจจะให้ย่อยได้ ตกกลางคืน
ได้ตายไป ถือปฏิสนธิในท้องแม่สุนัข เกิดเป็นลูกสุนัขน้อยในบ้านนายโคบาล
นั้นเทียว. ลูกสุนัขน้อยนั้นเป็นที่รักของนายโคบาล. และนายโคบาลบำรุง
อุปัฏฐาก พระปัจเจกพุทธเจ้า. ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ให้ก้อนข้าวก้อนหนึ่ง ๆ
แก่ลูกสุนัขน้อยในกาลเสร็จภัตกิจ. ลูกสุนัขน้อยนั้นเกิดความรักในพระ-
ปัจเจกพุทธเจ้า จึงไปยังบรรณศาลา พร้อมกับนายโคบาล. ครั้นนายโคบาล
ไม่ใช้ไปก็ไปเอง ในเวลาภัตเฝ้าอยู่ที่ประตูบรรณศาลา เพื่อรอเวลา และเฝ้าดู
สัตว์ร้ายในระหว่างทางให้สัตว์ร้ายหนีไป. สุนัขน้อยนั้นตายไปเกิดในเทวโลก
ด้วยจิตอ่อนน้อมในพระปัจเจกพุทธะ. ในเทวโลกนั้น เขาจึงมีชื่อว่า โฆสก-
เทวบุตร.
โฆสกเทวบุตรนั้น จุติจากเทวโลกแล้วไปเกิดในเรือนตระกูลหนึ่งใน
กรุงโกสัมพี. เศรษฐีไม่มีบุตรได้ให้ทรัพย์แก่บิดามารดาของทารกนั้น ได้